เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี เพื่อตรวจเยี่ยมชมผลงานนิทรรศการของ กศน.อำเภอต่าง ๆ ในจังหวัด กาญจนบุรี ราชบุรี และสุพรรณบุรี พร้อมทั้งมอบนโยบายและรับฟังปัญหาโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ก่อนเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 1/2562 กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 (กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี)

โดยมีนายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศธ., นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล, นายพะโยม ชิณวงศ์, นายธีรพงษ์ สารแสน รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการ กศน., นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน, นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหาร ข้าราชการ บุคลากรกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วม ภูมิใจ กศน.WOW เรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา

ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศธ. กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ลงพื้นที่มีโอกาสนำเสนอแนวคิด แนวทางนโยบายในการขับเคลื่อนงาน กศน. ไปสู่ กศน.ยุคดิจิทัล หรือ กศน.WOW (ONIE WOW DIGITAL WORLD) ซึ่งเป็นการขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการศึกษาและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตอย่างเท่าเทียม ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา เป็นการสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา ซึ่งทักษะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 คือ ทักษะสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี หน่วยงานและสถานศึกษาต้องมีระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การบริการการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ มีแหล่งเรียนรู้ สื่อ นวัตกรรมการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ประชาชนเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ได้โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่

ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัล ได้ถูกนำมาใช้เพื่อการพัฒนาในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการศึกษาและการเรียนรู้ การใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการพัฒนาครู หลักสูตร ตลอดจนส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเอง รวมทั้งการส่งเสริมให้ประชาชนทุกลุ่มได้มีช่องทางในการเรียนรู้ตลอดชีวิตรูปแบบใหม่ โดยผ่านระบบการเรียนรู้ในระบบเปิดสำหรับมหาชน MOOCs (Massive Open Online Courses)

 



6 ปัจจัยความสำเร็จของ กศน.WOW

สำหรับการพัฒนา กศน.ตำบล สู่ยุคดิจิทัล หรือ กศน.WOW จะประสบความสำเร็จได้อย่างไร มีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง ดังนี้

1. การพัฒนาครู กศน.และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมการศึกษาและการเรียนรู้ : Good Teacher โดยการพัฒนาให้ครู กศน.และบุคลากร กศน. มีความเป็น “ครูมืออาชีพ” มีจิตบริการ มีความรอบรู้ และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม ตลอดจนมีสมรรถนะในการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ ทั้งการพัฒนาทักษะการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ ทักษะภาษาต่างประเทศ ทักษะการจัดกระบวนการเรียนรู้

2. การพัฒนา กศน.ตำบล ให้มีบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ : Good Place-Best Check in เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ง่ายต่อการเข้าถึง มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เปรียบเสมือนคาเฟ่การเรียนรู้มีสิ่งอำนวยความสะดวก บริการอินเทอร์เน็ต มัลติมีเดีย เพื่อรองรับการเรียนรู้แบบ Active learning ปรับปรุงรถการอ่านเคลื่อนที่ เพื่อการเข้าถึงการอ่านในทุกพื้นที่ ทุกชุมชน

3. การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ : Good Activities พัฒนาการจัดการศึกษาออนไลน์ กศน. การเรียนออนไลน์สายสามัญ การเรียนออนไลน์ทักษะอาชีพ และการพัฒนาการค้าออนไลน์ อาชีพที่รองรับอุตสาหกรรมในอนาคต

4. เสริมสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย : Good Partnership ประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ให้กับประชาชนอย่างมีคุณภาพ

5. พัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา เพิ่มประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาและกลุ่มเป้าหมาย : Good Innovation จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ Brand กศน. สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์

6. จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้สำหรับทุกช่วงวัย : Good Learning Center โดยประสานขอใช้พื้นที่จากโรงเรียนที่ถูกยุบรวมมาจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้สำหรับทุกช่วงวัยของ กศน.

เผยหลักสูตร “กัญชา-กัญชง ศึกษา” เริ่มปี กศ’63

ส่วนการเปิดสอนหลักสูตร “กัญชา-กัญชง ศึกษา” สำนักงานกศน.จะเริ่มสอนครั้งแรกในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ในชื่อวิชา ทช33098 กัญชาและกัญชงศึกษา เพื่อใช้เป็นยาอย่างชาญฉลาดจำนวน 3 หน่วยกิต 120 ชั่วโมง

เนื้อหาแบ่งบทเรียนออกเป็น 7 บท ได้แก่ เหตุใดต้องเรียนรู้กัญชาและกัญชง 10ชั่วโมง, กัญชาและกัญชงพืชยาที่ควรรู้ 20 ชั่วโมง,รู้จักโทษและประโยชน์ของกัญชาและกัญชง 15 ชั่วโมง,กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกัญชาและกัญชง 15 ชั่วโมง,กัญชาและกัญชงกับการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 20 ชั่วโมง,กัญชาและกัญชงกับแพทย์แผนปัจจุบัน 20 ชั่วโมง และใช้กัญชาและกัญชงเป็นยาอย่างรู้คุณค่าและชาญฉลาด 20 ชั่วโมง

ย้ำพร้อมทลายทุกข้อจำกัด ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ในส่วนเรื่องการบรรจุครู กศน. 891 อัตรา มีความจำเป็นต้องขอให้รออีกสักระยะหนึ่ง เนื่องจากมีข้อจำกัดในบางประการ เช่น ใบประกอบวิชาชีพครู แต่ยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการอย่างเร็วที่สุด

ยืนยันว่าตั้งใจมาแก้ปัญหาอย่างจริงจังด้วยความจริงใจ ไม่ว่ายามบุคลากรพี่น้องชาว กศน.มีความทุกข์หรือความสุข ก็จะเห็นหน้า รมช.ศธ.อยู่ใกล้ ๆ โดยพร้อมจะทลายทุกกำแพงข้อจำกัดในการศึกษา โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังแม้แต่คนเดียว

นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการ กศน. กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ ปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ด้านการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย มุ่งสร้างโอกาสให้ประชาชน ผู้เรียนที่สําเร็จ หลักสูตรสามารถมีงานทํา โดยมีจุดเน้นดังนี้

1. เรียนรู้การใช้ดิจิทัล เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสําหรับช่องทางในการสร้างอาชีพ
2. จัดทําหลักสูตรพัฒนาอาชีพที่เหมาะสมสําหรับผู้ที่เข้าสู่สังคมสูงวัย โดยใช้ เทคโนโลยีและดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการพัฒนางานทั้งระบบ ทั้งการเรียนรู้และการบริหารจัดการ

สํานักงาน กศน.ได้ดําเนินการยกระดับและพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยการนํา ระบบดิจิทัลมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งนี้เพื่อลดช่องว่างและ ความเหลื่อมล้ํา สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ ทุกที่ ทุกเวลา หรือ (Anywhere Anytime) เป็นการจัดการศึกษาของ กศน.ที่เข้าสู่ยุคดิจิทัล อย่างแท้จริง (กศน. WOW) ซึ่งมีรูปแบบการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศยุคใหม่ มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอนและการเรียนรู้ออนไลน์ กศน.สู่ยุคดิจิทัล ประกอบไปด้วย 6 G ดังนี้

– Good Teacher ครูดี ครู กศน.ตําบลจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ เสริมสร้างการจัดการเรียนรู้สู่ยุคดิจิทัลด้วยครู กศน.
– Good Place จัดตั้ง กศน.ตําบลต้นแบบ กศน.ตําบล 5 ดีพรีเมี่ยม และให้บริการ Digital Library/E-book
– Good activity Digital Platform พัฒนาการศึกษาแบบออนไลน์หลักสูตร ลูกเสือมัคคุเทศก์ และหลักสูตรระยะสั้น รองรับ New S-Curve
– Good Partnership มีเครือข่ายที่ดีทํางานร่วมกัน ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่ การจัดการเรียนรู้ในชุมชนอย่างยั่งยืนและเข้มแข็ง
– Good Innovation การสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ หรือนวัตกรรมอาชีพให้ สอดคล้องกับบริบทของชุมชน การยกระดับแบรนด์ (Brand) กศน.
– Good Learning Center ศูนย์การเรียนรู้สําหรับคนทุกช่วงวัย โดยมี กศน. ตําบลเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตสําหรับทุกคนในชุมชน

 

ขอบคุณภาพจาก : gnews.apps.go.th